ค่ายบูรณาการคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ล้านนา
สำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น โรงเรียนสันกำแพง
โดย หน่วยวิจัยคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์โบราณคดี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2555 ณ โรงเรียนสันกำแพง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่
ที่มาและกิจกรรม | ภาพกิจกรรม | ข่าวผ่านสื่อมวลชน | ข้อความประทับใจหลังการเมินกิจกรรม
ค่ายบูรณาการคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ล้านนาครั้งนี้ ผู้ร่วมกิจกรรมเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 โรงเรียนสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 30 คน ซึ่งจัดกิจกรรมโดยอาจารย์ ดร.อติชาต เกตตะพันธุ์(ประธานค่ายฯ) อาจารย์ ดร.ศิริวรรณ เกตตะพันธุ์ และอาจารย์สุรชัย จงจิตงาม จากหน่วยวิจัยคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์โบราณคดี ภายใต้โครงการบูรณาการคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ล้านนา โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก สถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
สำหรับโครงการบูรณาการคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ล้านนา มีวัตถุประสงค์หลักสองข้อคือ 1) เพื่อสนับสนุนการจัดการเรียนรู้เกี่ยวกับล้านนาศึกษาโดยใช้องค์ความรู้ทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ โดยเน้นให้นักเรียนเห็นความสำคัญและประโยชน์ของการเรียนคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ พร้อมทั้งเกิดความเข้าใจและมีความรักในท้องถิ่นของตนเองมากยิ่งขึ้น และ 2) เพื่อสร้างตัวอย่างกิจกรรมการเรียนการสอนแบบบูรณาการจากองค์ความรู้จากหลายศาสตร์เข้าด้วยกัน
กิจกรรมที่จัดในค่ายครั้งนี้เป็นกิจกรรมที่สร้างขึ้นมาใหม่ ที่เน้นการเรียนรู้เกี่ยวกับล้านนาผ่านองค์ความรู้คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น นอกเหนือจากการเน้นการจัดกิจกรรมแบบบูรณาการแล้ว ยังเน้นให้นักเรียนได้รับทั้งความรู้และความสนุกสนานไปพร้อมกัน ฝึกทักษะการคิดวิเคราะห์ และยังออกแบบกิจกรรมให้จัดทำได้ง่ายสำหรับครู เพื่อครูจะได้นำกิจกรรมต่างๆ ไปใช้สอนในโรงเรียนของได้ด้วยตนเอง หลังจากกิจกรรมค่ายเสร็จสิ้นคณะทำงานจะได้ปรับปรุงการจัดกิจกรรมที่มีการนำมาใช้งานครั้งแรกนี้ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น และจะเผยแพร่กิจกรรมทั้งหมดในรูปแบบของคู่มือจัดกิจกรรมเพื่อให้ครูสามารถนำเอาไปใช้ประโยชน์ในการเรียนการสอนต่อไป สำหรับกิจกรรมที่ได้จัดในค่ายนี้ประกอบด้วย 1) คณิตศาสตร์กับการสร้างกำแพงเมืองเชียงใหม่ 2) ความลึกลับของพระธาตุหัวกลับ 3) ศาสนสถานกับการสร้างปฏิทิน 4) นักปักษีน้อยไขปริศนานกในอุโมงค์ และ 5) วิทยาศาสตร์กับการสืบค้นหาสีในงานจิตรกรรมวัดอุโมงค์
ข้อความประทับใจจากการประเมินกิจกรรม
“จากที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ ได้รับความรู้หลากหลายที่ยังไม่เคยทราบและพอได้เรียนรู้อยู่บ้างแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการสร้างกำแพงเมืองเชียงใหม่ ได้รู้ความลึกลับของพระธาตุหัวกลับ การสร้างปฏิทินที่สอดคล้องกับศาสนสถาน กิจกรรมนี้ประทับใจมากทั้งวิทยากร ความเหมาะสมในทุกๆเรื่อง ถ้ามีโอกาสอีกก็อยากจะเข้าร่วมกิจกรรมค่ายบูรณาการคณิตศาสตร์กับวิทยาศาสตร์ล้านนาอีกครั้ง”
เด็กหญิง เจนจิรา ตาเจริญเมือง นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
“ได้ลองใช้มีดผ่าตัด / ได้รับความรู้เกี่ยวกับสิ่งที่สงสัยในชีวิตประจำวัน/ในภูมิลำเนา เช่น การเกิดภาพเจดีย์หัวกลับ รู้วิธีการสร้างกำแพงเมืองเชียงใหม่ ว่าคนโบราณไม่ได้ล้าหลังเหมือนกับคนในปัจจุบันคิดว่าเป็นอย่างนั้น ซึ่งการสร้างนี้ แสดงถึงการประยุกต์ใช้หลักการ/ทฤษฎีต่างๆ”
เด็กหญิงสบันงา แสงบุตร นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
“การเข้าค่ายวิชาการในครั้งนี้ ทำให้ได้รับความรู้ต่างๆมากมาย ทั้งในด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และทางด้านศิลปะ รวมทั้งได้รับความรู้เกี่ยวกับภูมิปัญญาของคนสมัยโบราณ ที่ใช้ความรู้ทางด้านดาราศาสตร์ คณิตศาสตร์ ศิลปะ ในการสร้างสรรค์สิ่งก่อสร้างต่างๆ ใช้ชีวิตโดยการพึ่งพาธรรมชาติและศรัทธาในศาสนาในการดำเนินชีวิต ซึ่งเป็นสิ่งที่ล้ำค่าที่เราควรรักษาไว้ และประทับใจในความเป็นล้านนามากๆ”
เด็กหญิง กวิณนา ตาสุรินทร์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2
“ประทับใจที่ได้มาค่ายนี้ เพราะได้ความรู้ที่ไม่เคยรู้มาก่อน เช่น การสร้างกำแพงเมืองเชียงใหม่ ว่ามีหลักการอย่างไร และได้รู้ถึงความมหัศจรรย์ของศาสนสถานกับการสร้างปฏิทิน และชอบการไขปริศนานกวัดอุโมงค์ ที่ได้รู้ถึงการค้นหาศาสนสถานที่ทรงคุณค่าที่สุดในภาคเหนือ ประทับใจมากค่ะ”
เด็กหญิง รัตติการณ์ วงศ์ตุ้ย นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2
“ประทับใจมากค่ะ ครูพึ่งมาบอกตอนเช้า ก็งงนิดๆว่าทำไมต้องเป็นเราและรู้สึกว่าไม่อยากมาตอนแรก แต่พออาจารย์อติชาต เริ่มอธิบาย บรรยาย เกี่ยวกับความรู้ต่างๆก็เริ่มสนุกขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งอาจารย์อติชาต มีเกมความรู้ให้เล่นก็ยิ่งสนุกเข้าไปอีก แต่อยากให้มีการจัดกิจกรรมแบบนี้ที่โรงเรียนสันกำแพงบ่อยๆ”
เด็กหญิงปิยะพร ศรีแสงวณิชวิมล นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2
“การเข้าค่ายครั้งนี้มีประโยชน์ต่อนักเรียนมากครับ ความรู้ใหม่ๆที่คนรุ่นใหม่ไม่รู้ เช่นว่า การวัดและการทำกำแพงและคูเมืองของเชียงใหม่ วิธีการวัดปรับพื้นของคนในสมัยก่อนและของทางตะวันตก การดูนกต่างๆ และสุดท้ายความลับพระธาตุหัวกลับที่ลำปาง การเข้าค่ายครั้งนี้เป็นการเข้าค่ายนำร่องของทั่วประเทศไทย อยากให้เด็กมัธยมได้รับรู้กันทั้งประเทศ”
เด็กชาย ธนาคาร ธรรมธิ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1
“ประทับใจในกิจกรรมนักปักษีน้อยไขปริศนานกวัดอุโมงค์เพราะได้เรียนรู้ลักษณะของนก เพศและชนิดของนก”
เด็กหญิง ดวงฤทัย อินก้อนวงศ์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1